เนื้อวัวและสัตว์ปีกจะเป็นโปรตีนที่ถูกมองข้าม โดยมีโปรตีนจากแมลงมาแทนที่ แมลงที่ได้รับความสนใจสุดคือ “จิ้งหรีด” ที่นำมาอบให้แห้งและบดละเอียดจนกลายเป็นผง จากนั้นก็นำไปทำขนมปัง เบเกอรี่ หรืออาหาร แมลงเป็นโปรตีนแบบยั่งยืนเนื่องจากใช้พื้นที่ รวมถึงน้ำและอาหารไม่มากในการเพาะเลี้ยงเมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์หรือฟาร์มสัตว์ปีก แม้จิ้งหรีดจะยังไม่แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการแต่ก็เริ่มเห็นเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว เช่น โปรตีนแท่ง แพนเค้ก ขนมปัง และในอาหารสุนัขก็มี
ทราบหรือไม่ว่า แมลงคือแหล่งอาหารอนาคตของโลก
นี่คือการประกาศให้การยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พร้อมเอกสารความยาว 200 หน้าที่ชื่อว่า Edible insects: Future prospects for food and feed security (แมลงที่รับประทานได้-ลู่ทางความหวังแห่งอนาคตสำหรับความมั่นคงทางอาหารและอาหารสัตว์) ผลจากการประชุมความมั่นคงทางอาหารและป่าไม้ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อปี 2013
ทั้งนี้ FAO คาดการณ์ว่า ในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้นถึง 9,000 ล้านคน ซึ่งอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนทั้งอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ จึงต้องแสวงหาแหล่งอาหารโปรตีนทดแทนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแมลงกินได้ก็คือเสบียงอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น
เหตุผลก็เพราะว่า แมลงหลายชนิดอย่างเช่นจิ้งหรีดนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพาะเลี้ยงได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน มีต้นทุนการผลิตต่ำ สิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากรน้อยกว่าปศุสัตว์ทั่วไป ทำให้ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเหมาะสมสำหรับการเป็นอาหารแห่งอนาคตด้วยประการทั้งปวง
คำประกาศจาก FAO นี้เสมือนเป็นใบเบิกทางชิ้นสำคัญที่ทำให้โอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับแมลงเปิดกว้าง และยังเป็นแรงผลักดันผู้ประกอบการ อย่างเช่นบริษัทสตาร์ทอัพดาวรุ่งในอเมริกาชื่อ EXO ที่ทำโปรตีนจิ้งหรีดแท่ง ก็เห็นลู่ทางมหาศาลจากเอกสารชิ้นนี้ เมื่อพวกเขาอ่านพบว่าสหรัฐอเมริกานั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมการบริโภคแมลง